สั่งซื้อ

โครงสร้างการเขียนข่าว


โครงสร้างการเขียนข่าว


         โครงสร้างของข่าว (news story structure) ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมักจะเป็นข่าวประเด็นเดียว (single – element story) ประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐาน 4 ส่วน คือ
         1. ส่วนพาดหัวข่าว (Headline) หมายถึง ประโยค วลี หรือข้อความสั้นๆ ที่เป็นสาระหรือใจความสำคัญของเนื้อข่าว พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ และมักอยู่ด้านบนของเนื้อข่าว พาดหัวข่าวมีหน้าที่ให้สาระสำคัญของข่าว ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านให้อ่านเนื้อข่าว และช่วยในการจัดหน้าหนังสือพิมพ์
         2. ส่วนความนำหรือวรรคนำ (Lead) คือ ข้อความส่วนสรุปใจความสำคัญของเนื้อข่าว อาจมีสาระสำคัญหลายประการ จะนำเสนอเรียงตามลำดับความสำคัญ นับเป็นเนื้อหาส่วนแรกของเนื้อข่าว ซึ่งผู้อ่านจะเห็นก่อนส่วนอื่น และเป็นส่วนที่มีสาระความหมาย ซึ่งสามารถกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น ดึงดูดความสนใจ และสร้างอารมณ์คล้อยตามจนต้องอ่านเนื้อข่าวตั้งแต่ต้นจนจบ ในวงการวิชาชีพหนังสือพิมพ์เรียกวรรคนำว่า “โปรยข่าว”
         3. ส่วนเชื่อม (Neck หรือ bridge) คือ ข้อความส่วนเชื่อมต่อระหว่าง ส่วนความนำกับส่วนเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียด ส่วนเชื่อมนั้นอาจจะเสนอรายละเอียดของบุคคลสถานที่ เหตุการณ์ หรือเวลาที่ปรากฏในส่วนความนำ หรือให้ความเป็นมาของข่าวที่มีการนำเสนอต่อเนื่อง รวมทั้ง การให้ข้อมูลในลักษณะภูมิหลังของเนื้อข่าว ส่วนเชื่อมจึงมีความสำคัญเปรียบเสมือนสะพานในการเชื่อมโยงให้ผู้อ่านข่าวเข้าใจความหมายของข่าวที่ต้องการสื่อได้มาก
         4. เนื้อข่าว (Body) คือ ส่วนที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์หรือเรื่องราวแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและติดตามเหตุการณ์ทั้งหมด โดยอาจเรียงเนื้อเรื่องแบบใดแบบหนึ่ง คือ แบบลำดับตามความสำคัญ (significant order) หรือแบบลำดับเวลาหรือเหตุการณ์ (chronological order)
         โครงสร้างพื้นฐานของข่าวข้างต้น เป็นส่วนประกอบพื้นฐานในการเขียนข่าว ที่แต่ละข่าวควรมีส่วนประกอบพื้นฐาน 4 ส่วน อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอข้อเท็จจริงของข่าว ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์อาจกำหนดแนวทางการเขียนข่าวขึ้นอยู่กับลักษณะประเด็นของข่าวนั้นๆ
         ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์จะต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ขององค์กรไว้ในท้ายข่าวด้วยเสมอ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้โดยสะดวก เพื่อที่ผู้สื่อข่าวสามารถติดต่อขอทำความเข้าใจหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้

การเขียนข่าว



ข่าวสารนับเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ต่อการบริหารงานประชาสัมพันธ์ การที่จะสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน จำเป็นต้องมีข่าวสารที่ดี ที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม การเลือกข่าวสารสำหรับเผยแพร่ จึงจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังให้องค์กรได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ข่าวสารทุกครั้ง ขณะเดียวกัน สิ่งที่ควบคู่กับข่าวสารก็คือ เครื่องมือสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องมีการเลือกให้ถูกต้องเช่นกัน ข่าวสารที่มีมีคุณค่าต่อสังคม และใช้เทคนิคในการเขียนให้สอดคล้องกับแบบฉบับของสื่อแต่ละประเภท ย่อมจะได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ข่าว คือการรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนความคิดเห็นของบุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ
ซึ่งประชาชนให้ความสำคัญและสนใจ รวมทั้งมีผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก สำหรับนักประชาสัมพันธ์ ข่าวก็คือหัวใจของงานประชาสัมพันธ์ ที่จะรายงานภารกิจ ความก้าวหน้าของหน่วยงานให้สาธารณชนทราบ การเขียนข่าวเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ และต้องมีเทคนิคในการสร้างความเข้าใจและความสนใจแก่ประชาชน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการประชาสัมพันธ์ ยังขึ้นอยู่กับความถี่ของผลงานข่าว ที่นำเสนอในสื่อต่างๆ
แหล่งที่มาของข่าว ข่าวเกิดจากเหตุการณ์และกิจกรรมดังต่อไปนี้
  1. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
  2. กิจกรรมที่วางแผนไว้
  3. ความพยายามของผู้สื่อข่าว ข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นข่าวเชิงบวกและสร้างสรรค์บนพื้นฐานของความจริงที่เกิดจากกิจกรรมของหน่วยงาน
องค์ประกอบของข่าว
   การเขียนข่าวสารที่จะประชาสัมพันธ์ หรือสารที่จะสื่อออกไปยังสื่อมวลชน ควรมีสาระสำคัญหรือองค์ประกอบ ที่เรียกว่า "5 W 1 H ” ดังต่อไปนี้
  1. ใคร (Who) ใครคือบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข่าว
  2. ทำอะไร (What) เกิดอะไรขึ้น การกระทำหรือเหตุการณ์ใดที่สำคัญ
  3. ที่ไหน (Where) การกระทำหรือเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นที่ไหน
  4. เมื่อไร (When) การกระทำหรือเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้นวัน เวลาใด
  5. ทำไมและอย่างไร ( Why and How) ทำไมเหตุการณ์นั้นจึงเกิด และเกิดขึ้นได้อย่างไร
  6. ข้อมูลประกอบอื่นๆ เช่น ความเป็นมา
ขั้นตอนในการเขียนข่าว
การเขียนข่าว ผู้เขียนควรปฎิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
  1. หาข้อมูล โดยการค้นคว้า รวบรวมข้อมูล และสัมภาษณ์
  2. วางแผนการเขียน ศึกษากลุ่มเป้าหมายและนโยบายของสื่อที่จะส่งเผยแพร่
  3. ร่างเนื้อหา รูปแบบ ภาษา ทบทวน
  4. ประเมินผล โดยการอ่านทบทวนด้วยตนเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยอ่าน องค์ประกอบการเขียนข่าว การเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ ต้องบอกสิ่งสำคัญที่สุดก่อน แล้วจึงบอกสิ่งสำคัญรองลงมา
การเขียนข่าวมีองค์ประกอบสำคัญเรียงลำดับ ดังต่อไปนี้
  1. พาดหัวข่าว (headline) เป็นการบอกประเด็นสำคัญของข่าว มักใช้ประโยคที่เป็นข้อความสั้นๆ เพื่อช่วยให้รู้ว่าเป็นข่าวอะไร และมีประเด็นใดน่าสนใจ วิธีการพาดหัวข่าวให้พิจารณาความสำคัญของข่าวนั้นๆ ว่าใคร ทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไร และทำไมจึงทำเช่นนั้น ตัวอย่างการเขียนพาดหัวข่าว 1.1 แบบ Who นำ เช่น "นายกรัฐมนตรีประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.” "แฝดสยามเพศหญิงเสียชีวิตแล้ว” "กกต.ยืนกรานห้ามจดใหม่ พรรคถูกยุบ” 1.2 แบบ What นำ เช่น "เกิดเพลิงไหม้ที่ย่านชุมชนกลางตลาด” ซึ่งส่วนใหญ่ความสำคัญของข่าวอยู่ที่ การกระทำและผลกระทบ 1.3 แบบ When นำ เช่น "31 พ.ค.ชี้ชะตายุบพรรค” ซึ่งข่าวนี้ความสำคัญอยู่ที่เงื่อนไขของเวลา 1.4 แบบ Where นำ เช่น "เชียงใหม่กลายเป็นเมืองในหมอกจากไฟป่า” ซึ่งคุณค่าของข่าวอยู่ที่สถานที่ 1.5 แบบ Why นำ เช่น "เร่งหาสาเหตุหนุ่มคลั่งยิงกราด 3 ศพ กลางตลาดไท” ความสำคัญของข่าวอยู่ที่การตั้งข้อสังเกต เพื่อเพิ่มความอยากรู้ อยากเห็น 1.6 แบบ How นำ เช่น "อยากได้มือถือรุ่นใหม่ วัยรุ่นหาเงินด้วยการขายตัว” ความสำคัญของข่าวอยู่ที่ความเป็นเหตุเป็นผล
  2. วรรคนำ เป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง คือต้องตอบสนองความสนใจของผู้อ่านว่า Who What When Where Why เขียนด้วยประโยคสรุปเรื่องหรือสรุปประเด็นสำคัญและกระชับ เพื่อขยายพาดหัวข่าว มีความยาวประมาณ 3-6 ประโยค เช่น "สดศรียืนกรานพรรคถูกยุบจดชื่อเดิมไม่ได้ ทนายบอก แม้วพร้อมแก้ปัญหา หาก ทรท.ถูกยุบ ด้านประธาน คมช.ติวเข้มตำรวจ-ทหาร สั่งห้ามใช้อาวุธรับมือม๊อบ”
  3. ส่วนเชื่อม เป็นตัวเชื่อมระหว่างวรรคนำกับเนื้อข่าว ส่วนใหญ่เป็นข้อความที่ขยายประเด็นของเรื่อง จะมีหรือไม่มีก็ได้ มักใช้กับข่าวใหญ่ เช่น "ทั้งนี้เป็นการประชุมลับ ห้ามไม่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในห้องประชุมศาลฎีกา”
  4. เนื้อข่าว เป็นการบอกเรื่องที่เหลือจากที่บอกไว้แล้วในวรรคนำ เป็นข้อเท็จจริงที่สนับสนุนหรือขยายความ หรือช่วยให้วรรคนำได้ใจความชัดเจนขึ้น เป็นเรื่องราวทั้งหมดของข่าวที่ตอบคำถาม 5 W และ 1 H มี 2-5 ย่อหน้าตามความเหมาะสม โดยย่อหน้าแรกๆ เป็นรายละเอียดตามวรรคนำ ย่อหน้าสอง อ้างคำพูดผู้ให้สัมภาษณ์ หรือผู้บริหาร เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ย่อหน้าสุดท้าย เสริมข้อมูลเฉพาะที่จำเป็น เช่น "รายงานข่าวแจ้งว่า……………….” นอกจากนี้ตัวอย่างการนำคำพูดมาใช้ในเนื้อข่าว เช่น "ผู้ก่อความไม่สงบกำลังสูญเสียมวลชน เขาหมดโอกาสที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จในการแบ่งแยกดินแดน” พันเอกอัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก กล่าว หรือ ประโยคอ้อม "พันเอกอัคร ทิพโรจน์ กล่าวว่าผู้ก่อความไม่สงบกำลังสูญเสียมวลชน และหมดโอกาสที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จในการแบ่งแยกดินแดน” หรือประโยคตรง พันเอกอัคร ทิพโรจน์ โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า "ผู้ก่อความไม่สงบกำลังสูญเสียมวลชน เขาหมดโอกาสที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จในการแบ่งแยกดินแดน”
  5. ทิ้งท้ายข่าว เป็นการสรุปประเด็นเพื่อดึงดูดความสนใจ ตอกย้ำจุดหมาย ส่วนใหญ่มี ความยาวประมาณ 4-6 ประโยค เช่น "เชิญร่วมกิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ และร่วมกันทำความดีถวายในหลวงด้วยการงดสูบบุหรี่”
รูปแบบการเขียนข่าว
            โดยทั่วไปการเขียนข่าวจะมีเพียง 3 ส่วนเท่านั้น ได้แก่ พาดหัวข่าวหรือโปรยหัวข่าว (headline) วรรคนำ เป็นการสรุปเรื่องราว (lead) เนื้อข่าว เป็นรายละเอียดของเหตุการณ์และเรื่องราว (detail) นอกจากนี้รูปแบบการเขียนข่าวทั่วๆ ไป ไม่ว่าข่าวหนังสือพิมพ์ หรือข่าววิทยุโทรทัศน์ มี 3 รูปแบบ ได้แก่ ปีรามิดหัวกลับ ปีรามิดหัวตั้ง และสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงยืนแบบผสม ซึ่งใช้ในรูปแบบของข่าวที่แตกต่างกันดังนี้
  1. แบบปิรามิดหัวกลับ (inverted pyramid) เป็นการนำเสนอข่าวโดยลำดับประเด็นสำคัญจากมากไปหาน้อย ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ในการอยากรู้อยากเห็นสิ่งสำคัญก่อน ส่วนรายละเอียดไว้ทีหลัง ประกอบด้วย ข่าวพาดหัว วรรคนำ ส่วนเชื่อม และส่วนของเนื้อเรื่อง เรียงตามลำดับความสำคัญ เป็นการเขียนข่าว โดยเริ่มด้วยความนำที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง และส่วนเชื่อมที่โยงความสัมพันธ์ระหว่างความนำกับเนื้อหา ที่มีความสำคัญรองลงมา ส่วนเนื้อหา จะเป็นส่วนประกอบที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด
  2.  แบบปิระมิดหัวตั้ง (upright pyramid) จะเรียงลำดับข้อมูลที่มีความสำคัญน้อยไปหามากที่สุด (climax) เพื่อให้ผู้อ่านมีความอยากรู้ เริ่มจากประเด็นที่ไม่มีความสำคัญมากนัก แล้วค่อยๆ เพิ่มประเด็นที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงประเด็นสำคัญที่สุด มักจะใช้ในเรื่องที่มีเงื่อนงำ เชิงสืบสวน สอบสวน ปัจจุบันไม่นิยมใช้
  3.  แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงยืนแบบผสม (combination) มักใช้เขียนข่าวที่ไม่ค่อยสำคัญ เป็นข่าวสั้นๆ เริ่มจากส่วนเชื่อม หรือจากเนื้อเรื่องข่าว หลังจากพาดหัวข่าวแล้ว ไม่มีความนำ ความสำคัญของข่าวเท่าเทียมกัน ตั้งแต่ต้นจนจบเนื้อเรื่องของข่าว มักจะเขียนแบบเสนอข้อเท็จจริง
บรรณานุกรม
  1. นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ และคณะ. (2543).เหยี่ยวข่าวภาคประชาชน .เชียงใหม่: บีเอสการพิมพ์.
  2. วีรนิจ ทรรทรานนท์. (2548). รู้ลึกเรื่องกล้องดิจิตอล รู้จริงเรื่องการถ่ายภาพ. กรุงเทพมหานคร: บริษัทซัคเซส มีเดีย จำกัด
  3.  เวบไซต์กรมประชาสัมพันธ์ www/prd.go.th
  4. วราภรณ์ ชวพงษ์ ประชาสัมพันธ์



    รูปแบบของการเขียนข่าว


             การนำเสนอเนื้อเรื่อง หรือตัวข่าว (Body) คือการนำเสนอส่วนที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ หรือเรื่องราวแก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและติดตามเหตุการณ์ทั้งหมด โดยผู้เขียนข่าวสามารถเลือกรูปแบบการเขียนข่าวที่มีอยู่หลายรูปแบบมาเป็นแนวทางได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การเขียนข่าวโดยรูปแบบปิรามิดหัวกลับได้รับความนิยมมากที่สุด
             1. การเขียนข่าวแบบปิรามิดหัวกลับ (Inverted - Pyramid Style) เป็นการเขียนโดย นำเอาเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดขึ้นมาก่อน แล้วจึงตามด้วยเรื่องราวที่มีความสำคัญรองลงไปตามลำดับ เป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ทราบรายละเอียดของเหตุการณ์นั้น
             การเขียนข่าวแบบปิรามิดหัวกลับเป็นรูปแบบการเขียนข่าวที่เหมาะกับยุคสมัยที่เป็นยุคสังคมข่าวสาร มีข่าวข่าวสารมากมาย ในขณะที่ผู้อ่านมีเวลาน้อยมาก การบอกใจความสำคัญของข่าวไว้ตั้งแต่ต้นจึงเป็นรูปแบบการอ่านข่าวที่ผู้อ่านคุ้นเคย จึงทำให้เป็นรูปแบบการเขียนข่าวที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาจนถึงปัจจุบันนี้
             นอกจากนั้น การเขียนข่าวโดยทั่วไปยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น แบบปิรามิดหัวตั้ง (Upright Pyramid Style) เป็นรูปแบบการเขียนข่าวที่ตรงกันข้ามกับแบบแรก กล่าวคือ จะเริ่มจากการกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญน้อย แล้วค่อยๆ นำเสนอข้อเท็จจริงที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงย่อหน้าสุดท้ายที่มีความสำคัญที่สุด หรืออาจนับได้ว่าเป็นช่วง “ไขประเด็นข่าว” (climax) ก็ว่าได้ ในปัจจุบันหนังสือพิมพ์มักนำรูปแบบการเขียนข่าวปิรามิดหัวตั้งมานำเสนอข่าวสั้น
             รูปแบบการเขียนข่าวแบบปิรามิดหัวตั้งนี้ เคยใช้กันมาในการเขียนข่าวแบบเก่าๆ อย่างไรก็ตาม การเขียนข่าวแบบนี้ยังใช้อยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์พิเศษ ที่มีรายละเอียดมากเกินกว่าจะสรุปข้อเท็จจริงสำคัญทั้งหมดไว้ในย่อหน้าแรก หรือมิฉะนั้นก็ใช้กับเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำสูง เพื่อสร้างความสนเท่ห์ให้แก่ผู้อ่าน ก่อนที่จะคลี่คลายคำตอบให้ทราบในตอนจบของเรื่อง (เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท, ม.ป.ป.)
             ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์จะต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์ขององค์กรไว้ในท้ายข่าวด้วยเสมอ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้โดยสะดวก เพื่อที่ผู้สื่อข่าวสามารถติดต่อขอทำความเข้าใจหรือขอข้อมูลเพิ่มเติมได้
             2. การเขียนข่าวแบบนาฬิกาทราย (Hourglass Style) เป็นการเขียนเนื้อเรื่องโดยเปิดเรื่องด้วยใจความสำคัญของเรื่องในย่อหน้าแรกๆ แบบเดียวกันกับแบบปิรามิดหัวกลับ หลังจากนั้น จะเรียงลำดับข้อมูลที่มีความสำคัญลดลงไปลำดับ จนถึงย่อหน้าที่จะเริ่มเล่าตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Chronological Accounts) รอย ปีเตอร์ คลาร์ค (Roy Peter Clark) นักวิชาการศึกษาด้านสื่อแห่งสถาบันพอยเตอร์ (The Poynter Institue) ในเซ็นต์ พีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) เรียกรูปแบบการเขียนข่าวแบบนี้ว่า “แบบนาฬิกาทราย” (Hourglass Style) (Itule and Anderson, 1994, p.110 - 113)
             ลักษณะเด่นของรูปแบบการเขียนข่าวแบบนาฬิกาทราย คือ ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์สามารถเขียนบรรยายได้มาก โดยเฉพาะการเน้นย้ำข้อมูลที่มีความสำคัญ ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจข้อมูลได้มากกว่า รวมทั้งเป็นรูปแบบการเขียนที่ทำให้โครงสร้างของน้ำหนักของข้อมูลที่นำเสนอมีความสมดุลตลอดทั้งเรื่อง รูปแบบการเขียนข่าวแบบนาฬิกาทรายจึงเปรียบเสมือนทางเลือกของผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ที่เบื่อรูปแบบการเขียนที่นิยมกันทั่วไปคือรูปแบบการเขียนแบบปิรามิดหัวกลับ
              แบบความนำผนวกกับเนื้อข่าวที่มีข้อเท็จจริงสำคัญเท่าเทียมกัน (Lead-plus-equal-facts) การเขียนข่าวรูปแบบนี้มีลักษณะพิเศษที่ไม่ถูกจำกัดด้วยความสั้น-ยาวด้วยพื้นที่ที่จะตีพิมพ์ เนื่องจากรายละเอียดของแต่ละข้อมูลในเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด และแต่ละข้อมูลยังมีเหตุผลสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่
             การเขียนข่าวรูปแบบนี้ในย่อหน้าแรกมีความนำที่สรุปย่อข้อเท็จจริงทั้งหมดเอาไว้ เช่นเดียวกับความนำในปิรามิดหัวกลับ ส่วนเนื้อข่าวจะอธิบายรายละเอียดของข้อมูล โดยไม่เรียงลำดับความสำคัญของข้อมูลนั้นๆ แต่จะเรียงลำดับความเป็นเหตุเป็นผลสนับสนุนซึ่งกันและกันอยู่ (สิริทิพย์ ขันสุวรรณ, 2543 น.139-140)